ถ่ายภาพ

10 เทคนิคการถ่ายภาพที่ช่วยให้ภาพดูน่าสนใจยิ่งขึ้น

04:09:00

เทคนิคการถ่ายภาพ
          วิธีถ่ายภาพให้ออกมาสวยถูกใจที่คนรักการถ่ายภาพควรรู้ เพื่อให้ได้ภาพอย่างที่ต้องการ

          ถ้าอยากให้ภาพที่เราถ่ายออกมาสวยสมใจ บางครั้ง...กล้องราคาแพงหรือชุดอุปกรณ์สุดหรูก็ช่วยอะไรคุณไม่ได้ หากปราศจากเทคนิคการถ่ายภาพที่ถูกต้อง ซึ่งวันนี้เราได้นำเทคนิคการถ่ายภาพให้น่าสนใจมากขึ้นจากนิตยสาร FOTOINFO มาฝากกันแล้วครับ 

           ทิศทางแสง 

          นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการถ่ายภาพ แสงดีจะทำให้วัตถุและภาพถ่ายมีมิติตื้นลึกหนาบางได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยทิศทางของแสงที่กระทำต่อตัวแบบนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งคุณควรต้องสังเกตให้ดีว่าแสงมาจากด้านไหน จะทำให้เกิดสิ่งใดขึ้นกับตัวแบบ และแน่นอนว่ามันจะส่งผลไปถึงอารมณ์ของภาพด้วย

          เทคนิคง่าย ๆ หากคุณต้องการทิศทางของแสงธรรมชาติอันน่าสนใจก็คือ จะส่องกล้องไปทางไหนก็ตาม ขอให้พระอาทิตย์อยู่ด้าน ซ้าย/ขวา/หน้า โดยให้มันอยู่สูงขึ้นไปพ้นจากกรอบภาพเสมอ วิธีการนี้จะใช้ได้ผลดีอย่างยิ่งสำหรับตัวแบบที่มีขนาดใหญ่เต็มภาพ

           ประกายแฉก 

          เบสิกที่สุดแต่ก็นิยมมากที่สุด สำหรับวิธีการบีบรูรับแสงแคบเพื่อให้ดวงแสงที่ปรากฏอยู่ในภาพเกิดอาการแตกเป็นประกายแฉกออกมา ทั้งนี้ลักษณะของแฉกแสงจะสวยงามน่าประทับใจแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพของเลนส์เป็นสำคัญ เพราะเลนส์บางรุ่นไม่สามารถให้ประกายแฉกได้หากส่องไปทางดวงแสงโดยตรง แต่บางรุ่นก็สามารถแตกประกายแฉกที่ว่านั้นออกมาให้เห็นได้โดยตรงเลยเช่นกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นเลนส์ระดับใดก็ตาม หากคุณวางตำแหน่งของดวงแสงให้ถูกบังหรือหมิ่นเหม่กับวัตถุอะไรสักอย่างโดยให้โผล่ออกมานิด ๆ มันก็จะแตกประกายแฉกอวดเทคนิคพิเศษนี้ออกมาทันที

เทคนิคการถ่ายภาพ

           สีสัน

          ฟังดูไม่น่าจะเป็นเทคนิคอะไรตรงไหน แต่เรื่องพื้น ๆ แบบนี้นี่แหละที่บรรดามืออาชีพต้องคัดสรร เพื่อสร้างความน่าสนใจและดึงดูดสายตาผู้ชมกันเลยทีเดียว ถ้าคุณรู้จักการจับคู่สีอันช่วยส่งเสริมกันได้ละก็ จะยิ่งมีพลังในการเรียกความสนใจได้มาก 

           มุมมองที่แตกต่าง 

          มนุษย์ส่วนมากจะถ่ายภาพจากระดับปกติในขณะนั้น ถ้ายืนอยู่ก็ยกกล้องขึ้นกดโดยไม่คิดอะไรมาก มุมมองก็เลยเป็นมุมเดิม ๆ จากระดับสายตาปกตินี่แหละ

          แต่ถ้าลองใช้มุมมองที่ต่างออกไปบ้าง เป็นต้นว่ามุมต่ำแล้วเงยกล้องด้วยเลนส์มุมกว้าง คุณก็จะได้ภาพถ่ายในระดับสายตาหรือมุมมองอย่างอื่น ซึ่งมุมที่ต่างออกไปนี่แหละจะทำให้ภาพของดูน่าสนใจมากขึ้น แม้บางสิ่งจะดูผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงอยู่บ้างแต่รับรองว่ามันดึงดูดความสนใจได้แน่นอน

เทคนิคการถ่ายภาพ

           น้ำคือชีวิต 

          ไม่ใช่เพียงแค่ในทางกายภาพของธรรมชาติ แต่กระทั่งในภาพถ่าย "น้ำ" ยังช่วยเพิ่มชีวิตชีวาได้ด้วยเหมือนกัน ในมืออาชีพระดับโลกก็ยังใช้น้ำสาดให้เปียกบนพื้นเพื่อเพิ่มเนื้อที่ทางรายละเอียด เพราะพื้นผิวของน้ำจะสะท้อนสิ่งต่าง ๆ ได้ ซึ่งหากมันเป็นพื้นทึบ ๆ ทึม ๆ อันหาสาระอันใดไม่ได้ แต่เมื่อเกิดเงาสะท้อนหลากสีสันขึ้นมา ภาพก็จะเปลี่ยนไปทันที

           เส้นสาย 

          เทคนิคพื้นฐานสำหรับการเล่นกับเส้นสายให้ดูน่าสนใจก็คือ คุณควรปล่อยพื้นที่ว่างอันปราศจากเส้นอื่น ๆ ที่จะทับถมกันให้ยุ่งเหยิงเข้าไปอีก วางตำแหน่งเส้นสายที่เล็งเอาไว้ให้อยู่บนพื้นที่โล่งสักหน่อย ดูจังหวะเส้นสวย ๆ และถ้าหากข้อมูลสีมันทำให้ภาพดูน่าสับสนเกินไป ก็ลองเปลี่ยนให้เป็นภาพขาวดำดู บางทีคุณอาจจะค้นพบว่ามันกลายเป็นภาพแนวอาร์ตสุดเจ๋งที่สุดเท่าที่คุณเคยมีในครอบครองไปเลยก็ได้

เทคนิคการถ่ายภาพ

           ใช้สปีดชัตเตอร์ช้าดูบ้าง 
          เราสามารถใช้สปีดชัตเตอร์ที่ต่ำลงมาอีกสักหน่อยเพื่อสร้างภาพในอารมณ์แบบ "Motion Blur" ซึ่งแสดงการเคลื่อนไหวได้ด้วยเช่นกัน

          เทคนิคการใช้สปีดชัตเตอร์ต่ำแบบนี้ก็เพียงแค่ลดความไวลงมาประมาณสัก 1-2 สตอปจากปกติ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงความเร็วหรือลักษณะการเคลื่อนไหวของสิ่งนั้นด้วย ซึ่งแน่นอนว่าภาพแบบนี้ย่อมจะถ่ายยากกว่าภาพปกติ แต่ไม่ว่าจะบังเอิญหรือฝีมือ หากมันเป็นภาพที่แสดงอารมณ์ได้ดีเยี่ยมละก็มันจะดึงดูดให้คนดูคล้อยตามได้ไม่ยากเลย

           ขนาด 

          เทคนิคนี้เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาใช้งานครับ ขนาดที่ใหญ่เต็มตาเต็มอารมณ์ยังไงก็เรียกร้องความสนใจทางสายตาได้เสมอ ป้ายโฆษณามักจะใช้แนวคิดนี้ในภาพถ่ายให้เห็นกันเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งมันก็ได้ผลจริง ๆ แต่ก็ต้องมีชั้นเชิงคือไม่ควรจะมีสิ่งอื่นเข้ามาแย่งความสำคัญออกไปจากวัตถุ เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นอะไรที่จะช่วยเปรียบเทียบให้มันดูใหญ่ขึ้นไปอีกได้ในความรู้สึก ยกตัวอย่างเช่น ดอกไม้ดอกใหญ่กับแมลงตัวเล็ก เป็นต้น

เทคนิคการถ่ายภาพ

           ใช้ระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง 
          ระบบถ่ายภาพต่อเนื่องไม่ใช่ระบบที่สร้างมาเฉพาะการถ่ายภาพนก, สัตว์ป่า หรือกีฬาเท่านั้น แม้แต่การถ่ายภาพทั่วไปก็ใช้ได้เหมือนกัน ซึ่งการถ่ายภาพต่อเนื่องกันไปหลาย ๆ ชอตนี้จะทำให้ได้ภาพบางจังหวะที่น่าสนใจ หรือช่วยลดความผิดพลาดในภาพบางประเภทได้ด้วย 

           อย่าจมอยู่แต่กับช่องมองภาพ 

          ในการถ่ายภาพบางประเภท (โดยเฉพาะพวกที่ต้องรอจังหวะ) เราอยากแนะนำให้ตั้งกล้องและเซตค่าต่าง ๆ ให้เข้าที่ ปรับมุมภาพที่เหมาะสมที่สุด ต่อสายลั่นชัตเตอร์เข้ากับกล้อง จากนั้นก็ถอนสายตาออกจากช่องมองภาพแล้วลั่นชัตเตอร์ด้วยนิ้วมือในขณะที่มองภาพที่เกิดขึ้นนั้นด้วยสายตาจริง ๆ โดยไม่ต้องผ่านช่องมองภาพ

          เชื่อไหมล่ะว่าการทำแบบนี้จะช่วยลดอาการลนลานตั้งตัวไม่ติดของคุณได้มากทีเดียว มันเป็นเรื่องปกติธรรมชาติโดยความรู้สึกของมนุษย์ที่จะเกิดอาการเกร็งเมื่ออยู่ในมุมมองอันจำกัด เพราะยิ่งเกร็งมากก็จะยิ่งลนลานมาก กดผิดกดถูกจับจังหวะไม่ทันไปเลยทีเดียว



ที่มา : หนังสือ FOTOINFO ปีที่ 11 ฉบับที่ 121 เมษายน 2558

You Might Also Like

0 ความคิดเห็น

//]]>